รู้ทันโรคเก๊าท์

โรคข้ออักเสบเก๊าท์สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทำให้มีอาการปวดข้ออย่างเฉียบพลันและรุนแรงข้อจะบวมแดงและร้อน โดยมักพบที่ข้อต่อบริเวณโคนนิ้วโป้งหัวแม่เท้า อาการข้ออักเสบเฉียบพลันอาจทำให้ผู้ป่วยตื่นข้นมากลางดึก รู้สึกปวดแสบร้อนอย่างรุนแรงเหมือนถูกไฟลวก อาการปวดอาจเป็นๆหายๆซึ่งการรักษานอกจากมุ่งเน้นการรักษาอาการปวดแล้วยังต้องป้องกันการกลับเป็นซ้ำอีกด้วย

 

อาการ
1. อาการปวดข้ออย่างรุนแรง
อาการปวดข้อมมักเกิดที่บริเวณข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า แต่ก็สามารถเกิดได้กับทุกๆข้อในร่างกาย ได้แก่ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อศอก ข้อมือหรือข้อนิ้วมือ โดยอาการปวดจะรุนแรงใน 4-12ชั่วโมงแรกหลังมีอาการ

2. ความรู้สึกติดขัดไม่สบายในข้อ หลังอาการปวดและอักเสบอย่างรุนแรงของข้อแล้ว ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกว่าข้อติดขัด ตึงแน่น ได้อีกนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์
และอาจกระทบหลายข้อในร่างกายไม่จำกัดอยู่เฉพาะข้อที่เคยมีการอักเสบมาก่อน

3. ข้อบวมแดงร้อน

4. ข้อขยับได้น้อยลง

 

สาเหตุ
โรคข้ออักเสบเก๊าท์เกิดขึ้นเมื่อเกิดการสะสมของตะกอนกรดยูริคในข้อ เนื่องจากมีกรดยูริคในกระแสเลือดสูง ทำให้เกิดการอักเสบ และปวด กรดยูริคในกระแสเลือดเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเลเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในภาวะปกติกรดยูริคจะถูกขับออกทางปัสสาวะ แต่หากมีกรดยูริคในเลือดมากเกินไป กรดยูริคจะตกตะกอนเป็นผลึกรูปเข็มในข้อกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ปวด บวม

 

ความเสี่ยง
1. อาหาร
การรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ อาหารทะเล เครื่องดื่มรสหวานที่มีน้ำตาลฟรุคโตสจากผลไม้ รวมไปถึงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเก๊าท์

2. ความอ้วน
เมื่ออ้วนร่างกายจะสร้างกรดยูริคออกมามากขึ้น ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดออกทางปัสสาวะได้ทัน

3. โรคประจำตัว ได้แก่
ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษาเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต บางชนิด

4. ยา
ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ซึ่งใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือยาแอสไพรินขนาดต่ำ

5. พันธุกรรมในครอบครัว

6. อายุและเพศ
ผู้ชายมักเกิดเก๊าท์เร็วกว่าผู้หญิงโดยมักเกิดในวัยระหว่าง 30- 50 ปี ส่วนผู้หญิงมักเกิดในวัยหลังหมดประจำเดือน

 

ภาวะแทรกซ้อน โรคเก๊าท์อาจนำไปสู่...

1. โรคเก๊าท์แบบเป็นๆหายๆ
ผู้ป่วยหลายรายอาจเกิดอาการหลายๆครั้งภายใน 1 ปี ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาและป้องกันการอักเสบของข้อ จะเกิดการทำลายผิวข้อ ทำให้ข้อเสื่อมก่อนวัย

2. โรคเก๊าท์แบบรุนแรง
โรคเก๊าท์ที่ไม่ได้รับการรักษาทำให้เกิดการสะสมของผลึกกรดยูริคใต้ผิวหนัง เรียกว่าก้อนโทไฟ ก้อนโทไฟนี้ไม่ทำให้เกิดอาการปวดแต่สามารถทำให้เกิดอาการบวมและกดเจ็บได้เมื่อเกิดข้ออักเสบจากเก๊าท์

3. นิ่ว
ผลึกกรดยูริคสามารถสะสมในทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดนิ่วในไตได้

 

การป้องกัน
1. ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ 
2. ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
3. ลดความอ้วน
4. ลดอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ หัวใจไก่ ตับไก่ กึ๋นไก่ เซ่งจี้หมู ตับหมู ไต ตับอ่อน มันสมองวัว เนื้อไก่ เนื้อเป็ด ห่าน ไข่ปลา ปลาดุก ปลาไส้ตัน ปลาอินทรีย์ ปลาซาร์ดีน กุ้งชีแฮ้ หอย น้ำสกัดเนื้อ น้ำต้มกระดูก น้ำซุปต่างๆ ซุปก้อน ยีสต์ เห็ด ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง กระถิน ชะอม แตงกวา หน่อไม้ กะปิ เป็นต้น

 

 

Visitors: 96,643